มข.ขับเคลื่อนความร่วมมือ สร้างความเข้มแข็งสตรีและครอบครัวในภาคอีสาน สู่ความเท่าเทียมและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

วันที่ 30 มีนาคม 2568 เวลา 13.30 -16.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน ได้รับมอบหมายจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.ดร.อัมพรพรรณ ธีรานุตร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ รศ.ดร.วิภาวี กฤษณะภูติ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อ.ชินอนงค์ ประชุมชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานักเรียนและองค์กรสัมพันธ์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายการศึกษาพิเศษ และนางสาววราภรณ์ ผิวพรรณงาม รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) หรือ Disaster Care Center for the Vulnerable (DCCV) เพื่อการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมอวานีขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน มีผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวง พม. รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและหารือกำหนดแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

ในโอกาสนี้ ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมความเข้มแข็งของสตรีและครอบครัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

มหาวิทยาลัยได้ใช้ความเข้มแข็งด้านวิชาการและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาทักษะอาชีพและการสร้างรายได้ การจัดตั้งศูนย์เพศภาวะศึกษาศูนย์บริการแรงงานและการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ ศูนย์ชุมชนอีสานศึกษา ศูนย์วิจัยชุมชนการบริบาลและดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า สถาบันวิจัยและบริการด้านออทิซึม จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการดูแลการจัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษ การพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ ให้แก่นักเรียน โครงการแก้ปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น

จากการดำเนินงานร่วมกันในระยะที่ผ่านมา ก็ได้พบประเด็นท้าทายให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ พม. พิจารณาการดำเนินงานร่วมกันแบบบูรณาการ ในหลากหลายมิติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างยั่งยืนต่อไป

“มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังคงมุ่งมั่นร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศไทยโดยรวม”  

Scroll to Top