วันที่ 18 เมษายน 2568 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน พร้อมด้วย ผศ.ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน อาจารย์และนักวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช คณะเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการ และคณะทำงาน ลงพื้นที่ประชุมกำกับติดตามการดำเนินงานโครงการ “การส่งเสริมการผลิตข้าวเหนียว มข60 เชิงพาณิชย์และเพื่อความมั่นคงทางด้านเมล็ดพันธุ์” ภายใต้โครงการ ทุนพัฒนาหน่วยงานวิสาหกิจและส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ 2567 ศูนย์ข้าวชุมชนข้าวอินทรีย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมเดินหน้ายกระดับมาตรฐาน ตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตสู่การบริโภคและส่งออก สร้างรายได้มั่นคงให้เกษตรกร

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ กล่าวว่าโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อนำนวัตกรรมพันธุ์ข้าว มข60-1 และ มข60-2 ส่งเสริมการปลูกทั้งเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์และการผลิตเมล็ด เพื่อจำหน่ายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้ร่วมมือกับศูนย์ข้าวชุมชนข้าวอินทรีย์ ต.หนองห้าง อ. กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ในการปลูกข้าวทั้งสองพันธุ์ด้วยระบบอินทรีย์ ส่วนทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว มข60-1 และ มข60-2 ซึ่งเป็นข้าวเหนียวหอมนุ่ม ปัจจุบันพันธุ์ข้าวทั้ง 2 นี้ มีความต้องการในตลาดสูงแต่ยังขาดแคลนเมล็ดพันธุ์และพื้นที่ปลูก การขยายพื้นที่และจำนวนเกษตรกรในการผลิตเมล็ดพันธุ์สามารถช่วยให้มีเมล็ดพันธุ์ในระบบการผลิตข้าว มข60-1 และ มข60-2 เพิ่มขึ้น อีกทั้งเกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกข้าวมข60-1 และ มข60-2 เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

ด้าน ผศ.ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน กล่าวว่า โครงการผลิตข้าวเหนียวพันธุ์ มข60-1 และ มข60-2 ในพื้นที่ ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มุ่งเน้นการนำข้าวพันธุ์ที่ผ่านการปรับปรุงให้มีลักษณะที่ดี คือ เหนียว หอม นุ่ม ต้านทานต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง ทนทานต่อสภาพดินเค็มได้ดี มาปลูกในพื้นที่ ที่มีการผลิต บริโภค และส่งออกข้าวเหนียวในระดับหลายพันตันต่อปี
ข้าวพันธุ์มข60-1 มีความโดดเด่นด้วยคุณสมบัติปลูกได้ทั้งในฤดูและนอกฤดู ต้านทานโรคไหม้ได้ดี ส่วนมข60-2 นอกจากเหนียว หอม นุ่มแล้ว ยังต้านทานโรคไหม้และทนทานต่อดินเค็ม เกษตรกรให้การยอมรับและสามารถนำไปขยายพันธุ์เพื่อการส่งออกได้ ปัจจุบันกำลังเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการเชิงพาณิชย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นการนำข้าวพันธุ์ดี สู่มือเกษตรกรอย่างแท้จริง และเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตและการส่งออกข้าว ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำอันดับสองในการส่งออกข้าวสู่ตลาดโลก
ผศ.ดร.จิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดังกล่าว สร้างความมั่นคงทางเมล็ดพันธุ์ แม้จะเป็นโครงการระยะเวลา 1 ปี แต่เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมเกษตรกร ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นดำเนินการ มาตั้งแต่ปี 2561 โดยการส่งเสริมการปลูกข้าวทั้งสองพันธุ์ดังกล่าว เริ่มจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ในปีงบประมาณ 2567 และจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2568 ขณะนี้มีความคืบหน้าโดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบเมล็ดพันธุ์ ได้ครบ 30 ตันตามเป้าหมาย จากแปลงปลูกข้าวนาปีที่ผ่านมาและจากแปลงข้าวนาปรังที่จะเก็บเกี่ยว ในอีก 1 เดือนข้างหน้า
สำหรับ ผลการดำเนินโครงการในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า โครงการฯ สามารถเพิ่มพื้นที่ผลิต กว่า 266 ไร่ โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 550 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งเป็นผลผลิตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (475 กก./ไร่) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 36 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ปี 2567 จำนวน 2,394,000 บาท
ทั้งนี้ “ในอนาคต โครงการมุ่งส่งออกข้าวเหนียวคุณภาพสูงไปยังตลาดต่างประเทศให้ได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรได้รับมาตรฐาน Organic Thailand, EU และ USDA-NOP ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าข้าวและสร้างรายได้ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกร”
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : ฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน