มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ประสบความสำเร็จในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งเอเชีย ประจำปี 2025 (THE Asia University Rankings 2025) ซึ่งประกาศผลเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา โดย มข. ยกระดับขึ้นถึง 50 อันดับ อยู่ในตำแหน่ง 351–400 ของเอเชีย จาก 853 มหาวิทยาลัย ใน 35 ประเทศ/เขตการปกครอง ความสำเร็จนี้ไม่เพียงแสดงถึงพัฒนาการท่ามกลางมหาวิทยาลัยชั้นนำในไทย แต่ยังสะท้อนความมุ่งมั่นในการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (Global University)

ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ความสำเร็จครั้งนี้สอดคล้องกับอันดับโลก (World Ranking) ที่ มข. ปรับขึ้นจาก 1200+ เป็น 1000+ ก่อนหน้านี้ โดยมีปัจจัยสำคัญสองประการที่ส่งผลให้อันดับในระดับเอเชียสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่
– ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ (Research Quality) คะแนนด้านวิจัยของ มข. ทั้งคุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีคะแนนลดลงหรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย โดยเกณฑ์ด้านวิจัยนี้มีน้ำหนักประมาณ 30% ในการจัดอันดับระดับเอเชีย
– ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม (Industry) ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จในการสร้างรายได้จากทุนวิจัยและผลงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน
ผศ.นพ.ธรา ยังอธิบายถึงความแตกต่างในการให้น้ำหนักคะแนนระหว่างการจัดอันดับระดับโลกและเอเชีย โดยเฉพาะด้านชื่อเสียง (Reputation) ซึ่งในระดับเอเชียให้น้ำหนักน้อยกว่า ทำให้มหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งไม่นานแต่มีผลงานโดดเด่นสามารถแสดงศักยภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยระบุว่า
“นอกจากสองปัจจัยหลัก การฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลให้จำนวนนักศึกษาปริญญาเอกและนักศึกษาต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งช่วยเสริมคะแนนในภาพรวม โดย มข. ยังคงดำเนินการตามกลยุทธ์ที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาและพัฒนาอันดับให้สูงขึ้น ประกอบด้วย ประการที่ 1. ยกระดับคุณภาพงานวิจัย โดยมุ่งเน้นงานวิจัยขั้นสูง และสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเลิศในบริบทสากล ประการที่ 2. ต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ผลักดันการนำงานวิจัยไปสร้างมูลค่าและรายได้ ประการที่ 3 เน้นคุณภาพบัณฑิต ให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนนักศึกษาปริญญาเอกและนักศึกษาต่างชาติที่มีคุณภาพ ประการสุดท้าย การส่งเสริมความเป็นนานาชาติ ขยายฐานการให้ทุนแก่นักศึกษาต่างชาติให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเห็นผลชัดเจนจากจำนวนนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นถึง 40% (จาก 900 เป็น 1,300 คน) สะท้อนถึงชื่อเสียงและการยอมรับในระดับนานาชาติ”
ในประเด็นด้านการปฏิบัติงานของของบุคลากรที่มีผลต่อความสำเร็จครั้งนี้ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน โดยกำลังเร่งปรับปรุงระบบค่าตอบแทนบุคลากรให้สอดคล้องกับผลงานและความสามารถ เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานในทุกระดับ ตั้งแต่สายวิชาการ สายสนับสนุน ไปจนถึงลูกจ้างของมหาวิทยาลัย
การรักษาและพัฒนาอันดับมหาวิทยาลัยเปรียบเสมือน “การวิ่งมาราธอน” ไม่ใช่วิ่งระยะสั้นที่ต้องอาศัยการวางทิศทางระยะยาวที่ถูกต้องเหมาะสม การทำงานอย่างต่อเนื่อง และการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมความเป็นเลิศ เช่น ระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถมาร่วมงานกับมหาวิทยาลัย” ผศ.นพ.ธรา กล่าวปิดท้าย
จากความสำเร็จในการพัฒนาอันดับอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับความสนใจจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเพิ่มขึ้น การติดอันดับโลกในหลากหลาย Ranking แสดงถึงการมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากความทุ่มเทของบุคลากรและนักศึกษาทุกคน แม้เป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาค แต่ มข. สามารถยืนในระดับแนวหน้าของประเทศ และพร้อมพัฒนาต่อไปสู่การเป็น Global University อย่างมั่นคง
สำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเอเชียประจำปี 2025 โดย Times Higher Education ได้ประเมินมหาวิทยาลัยวิจัยในเอเชีย 853 แห่ง จาก 35 ประเทศ/เขตการปกครอง โดยพิจารณาจาก 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ การเรียนการสอน (Teaching) 24.5% การจัดการระบบนิเวศการวิจัย (Research Environment) 28% คุณภาพการวิจัย (Research Quality) 30% รายได้จากผลงานลิขสิทธิ์และนวัตกรรม (Industry) 10% และความเป็นสากล (International outlook) 7.5%
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : พรทิพย์ คำดี / Afif Ihza Abdala นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จากโครงการ ChitChat กองการต่างประเทศ มข.