“โรคแอนแทรกซ์” คืออะไร แพทย์ มข.มีคำตอบ พร้อมเปิดพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ-แนะวิธีสังเกตอาการ

จากกรณีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) 1 คน ใน จ.มุกดาหาร ซึ่งมีประวัติชำแหละเนื้อวัวก่อนแจกจ่ายรับประทานในหมู่บ้าน โดยมีผู้สัมผัสในกรณีนี้ 247 คน วันนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นชวนทุกคนมาทำความรู้จักโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) กันให้มากขึ้น เพื่อความตระหนักแต่ไม่ตระหนก

ผศ.นพ.วันทิน ศรีเบญจลักษณ์ อายุรแพทย์ด้านโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bacillus anthracis ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าแบคทีเรียอื่นเล็กน้อย โดยทั่วไปเชื้อจะอยู่บริเวณดินในธรรมชาติและก่อโรคร้ายแรงต่อสัตว์ และทำให้สัตว์ล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

“สัตว์ที่พบเจอเชื้อ Bacillus anthracis ได้บ่อย คือ พวกแกะ แพะ โค กระบือ เมื่อมนุษย์ไปสัมผัสกับซากสัตว์หรือสัตว์ที่ติดเชื้อก็จะเกิดโรคได้เช่นกัน”

การติดต่อจากสัตว์สู่คนเกิดได้จากหลายช่องทาง เช่น ผู้ที่มีอาชีพชำแหละซากสัตว์โดยตรงก็สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส รวมถึงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุกก็อาจจะติดเชื้อได้ รวมถึงกลุ่มอาชีพขนส่งสัตว์ก็อาจจะได้รับสปอร์ที่พุ่งกระจายจนสูดหายใจเข้าไปในปอดได้

“โรคแอนแทรกซ์นี้ไม่ใช่โรคใหม่และเคยมีการรายงานพบผู้ป่วยมานานหลายสิบปีแล้ว แต่โดยทั่วไปยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากคนสู่คน เนื่องจากการที่เชื้อจะสร้างสปอร์ได้ สัตว์หรือคนที่ติดเชื้อจะต้องเสียชีวิตก่อน ดังนั้น ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีการติดเชื้อจากคนสู่คน จึงอยากให้ทุกคนไม่ตระหนกจนเกินไป”

Freepik

แนะวิธีสังเกตอาการ “โรคแอนแทรกซ์”

ผศ.นพ.วันทิน ยังแนะวิธีสังเกตอาการของโรคแอนแทรกซ์ว่า หากได้รับเชื้อทางผิวหนัง ผู้ป่วยจะเกิดโรค Cutaneous anthrax ที่ผิวหนัง ลักษณะของแผลจะคล้ายกับรอยบุหรี่จี้ สังเกตได้จากแผลเปิดและมีสะเก็ดตรงกลาง โดยมีจุดที่แตกต่างจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ คือ มีอาการบวมตึงกว่า และหากไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาช้าเชื้ออาจจะเข้าสู่กระแสเลือดทำให้มีอาการมีไข้สูง

ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อผ่านการรับประทานจะทำให้เกิดแผลชนิดเดียวกันในทางเดินอาหารทั้งช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อาจจะมีถ่ายเป็นเลือดหรืออาเจียนเป็นเลือดได้เช่นกัน

Freepik

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อผ่านการหายใจก็อาจจะมีอาการทางปอด เช่น ไอ หายใจหอบเหนื่อย และแน่นหน้าอก ซึ่งการรับเชื้อทั้งทางเดินอาหารและทางปอดจะมีอาการค่อนข้างรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตสูง ซึ่งข้อมูลพบว่าระยะฝักตัวของเชื้อ Bacillus anthracis ยาวนานได้ถึง 60 วัน แต่โดยปกติอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์

ทั้งนี้ แนวทางการรักษาผู้ป่วยนั้นทีมแพทย์จะวินิจฉัยโรคก่อนจะแบ่งความรุนแรงของโรค หากมีการติดเชื้อเฉพาะบริเวณผิวหนังก็สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน แต่หากมีการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอด หรือทางเดินอาหารก็จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพร้อมรับยาปฏิชีวนะชนิดฉีดหลายชนิดร่วมกัน ทั้งการให้ยาฆ่าเชื้อโดยตรง ยายับยั้งการสร้างพิษของเชื้อ รวมถึงการรักษาเสริมอื่น ๆ ร่วมด้วย 

“ข้อสำคัญที่อยากให้ทุกคนทราบก็คือ ในผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสโรค หรือมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ที่ตาย รวมถึงกินเนื้อสัตว์ดิบที่ชัดเจนทางการแพทย์ก็มีการให้ยาปฏิชีวนะชนิดป้องกันก่อนที่จะเกิดอาการของโรคด้วย”

“โรคแอนแทรกซ์” ติดเชื้อสัตว์สู่คนน้อย ป้องกันได้

ทั้งนี้ การป้องกันโรคแอนแทรกซ์ เบื้องต้นอาจต้องติดตามข่าวสารการระบาดในแต่ละพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการรายงานสัตว์ตายโดยไม่ทราบสาเหตุทางกรมปศุสัตว์ก็จะลงพื้นที่ตรวจสอบและจัดการอย่างเป็นระบบในทันที ดังนั้น โอกาสที่จะมีเนื้อสัตว์ปนเปื้อนมาให้ประชาชนได้บริโภคก็มีโอกาสน้อยมาก

ผศ.นพ.วันทิน ทิ้งท้ายว่า ทุกคนก็สามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยการรับประทานอาหารปรุงสุกโดยเฉพาะเนื้อโค กระบือ แกะ และแพะเพราะจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ ขณะเดียวกันควรลดพฤติกรรมเสี่ยงในการสัมผัสกับซากสัตว์หรือสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือหากมีการสัมผัสแล้วและอยู่ในช่วงการระบาดพอดีก็ควรสังเกตอาการต่าง ๆ และเข้าพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงทันทีเมื่อมีอาการ หรือหากไม่มีอาการแต่ได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้มีประวัติสัมผัสก็ต้องแจ้งทีมแพทย์เช่นกันเพื่อจะได้รับยาป้องกันการเชื้อนั่นเอง

“แม้โรคแอนแทรกซ์จะเป็นโรคติดเชื้อที่หากติดเชื้อชนิดลุกลามจะมีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่ไม่ใช่โรคที่แพร่จากคนสู่คน ดังนั้น คนที่จะติดเชื้อก็ต้องเป็นคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจริง ๆ หากทุกคนตระหนักถึงข้อมูลโรค ทั้งพฤติกรรมเสี่ยงและอาการต่าง ๆ ก็ไม่ควรที่จะตระหนกเกินไป เพราะว่าโอกาสที่การระบาดจะเกิดขึ้นเป็นวงกว้างนั้นน้อยมาก ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพและรับประทานอาหารที่สุก สะอาดก็จะลดความเสี่ยงในการติดโรคแอนแทรกซ์ไปได้”

 

Scroll to Top