คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จัดงานมอบรางวัล “วิโรฒ ศรีสุโร” ครั้งที่ 3 ประจำปี 2568 ยกย่อง ดร.ติ๊ก แสนบุญ และนายอุทาน หาสำรี ผู้มีผลงานโดดเด่นด้านการอนุรักษ์และสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน พร้อมตอกย้ำพันธกิจการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานมอบรางวัล “วิโรฒ ศรีสุโร” ครั้งที่ 3 เพื่อเชิดชูเกียรติผู้สืบสานมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน โดยมี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ในการนี้ รศ.ดร.กฤตภัทร ถาปาลบุตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ คุณธนพงศ์ วิชคำหาญ นายกสมาคมศิษย์เก่าสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวคำรายงานถึงความสำคัญของการจัดงาน รศ.ดร.ธิติ เฮงรัศมี ประธานกรรมการตัดสินรางวัล พร้อมกันนี้ มีแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนร่วมงานเป็นจำนวนมาก ณ อาคารอเนกประสงค์ (สิม) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในการนี้คณะกรรมการได้พิจารณามอบรางวัลแก่ผู้ทรงคุณค่า 2 ท่าน ได้แก่ ดร.ติ๊ก แสนบุญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ได้รับรางวัลประเภท “ส่งเสริมการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” และ นายอุทาน หาสำรี ช่างทำเกวียนและช่างแกะสลักไม้จากจังหวัดยโสธร ผู้ได้รับรางวัลประเภท “เชิดชูการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น”
ผลงานที่โดดเด่นของ ดร.ติ๊ก แสนบุญ ได้แก่ อนุสรณ์สถาน 150 ปี ชาตกาล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หอพระวิทยาลัยแพทย์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหมู่เรือนอีสาน ณ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านยางน้อย ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างแนวคิดการออกแบบร่วมสมัยกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมอีสานได้อย่างกลมกลืน
ส่วนนายอุทาน หาสำรี เป็นเจ้าของผลงาน “เกวียนสลักลายนาสะไมย์” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ เริ่มเรียนรู้งานช่างตั้งแต่เด็กและทำงานไม้มาตั้งแต่ปี 2511 ทั้งงานประตู และ งานแกะสลักต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดวิชาให้ลูกหลาน สร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชน
รศ.ดร.กฤตภัทร ถาปาลบุตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า “รางวัลวิโรฒ ศรีสุโร” จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติและระลึกถึง รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร ผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการสถาปัตยกรรมอีสาน ซึ่งท่านเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นผู้บุกเบิกวิชาการด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของภาคอีสาน
“โครงการนี้ได้รับการสนันสนุนการจัดงานโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญอย่างคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งรางวัลนี้มุ่งหมายที่จะยกย่องและให้กำลังใจผู้ที่มีบทบาทและผลงานด้านการอนุรักษ์หรือสร้างสรรค์ศิลปะสถาปัตยกรรมในพื้นที่ภาคอีสานจนเป็นที่ประจักษ์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการบริการวิชาการเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคมและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น” คณบดีกล่าว
ดร.ติ๊ก แสนบุญ ผู้ได้รับรางวัลประเภท “ส่งเสริมการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า “รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับรางวัลนี้ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจสถาปัตยกรรมท้องถิ่น คือการได้เรียนกับ รศ.ดร.วิโรฒ นอกจากนี้ในการทำงานกับศิลปะอีสาน ทำให้ผมค้นพบว่าศิลปะอีสานมีเสน่ห์ตรงที่ไม่มีแบบแผนตายตัว แต่เป็นอิสระเสรี ซึ่งการไม่มีแบบแผนและความสามารถเข้าถึงคนได้ง่ายนี้เอง คือสิ่งที่ทำให้ความเป็นอีสานอยู่ร่วมสมัยเสมอ เช่น ดนตรีอีสานที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับกระแสหลักได้ แนวคิดของความเป็นอิสระนี้ผมจะนำไปถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานต่อไป”
ขณะที่ นายอุทาน หาสำรี ผู้ได้รับรางวัลประเภท “เชิดชูการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” เจ้าของผลงาน “เกวียนสลักลายนาสะไมย์” เปิดเผยด้วยความภาคภูมิใจว่า “เกวียนสลักลายนาสะไมย์เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อและปู่ ซึ่งทั้งสองท่านก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษอีกทอดหนึ่ง สำหรับการได้รับรางวัลในครั้งนี้ทำให้ผมมีกำลังใจที่จะสืบสานและถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ไปสู่คนรุ่นต่อไป ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา”
“ผมเริ่มเรียนรู้งานช่างจากพ่อและปู่ตั้งแต่เด็ก ทำงานไม้มาตั้งแต่ปี 2511 ทั้งงานประตู และ งานแกะสลักต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบสมัยก่อนการมีเกวียนและวัวสวยๆ ก็เหมือนกับสมัยนี้ที่คนมีรถสวย นี่แหละคือคุณค่าของเกวียน ตอนนี้ผมก็ได้ถ่ายทอดวิชาให้ลูกหลาน ทำให้พวกเขามีอาชีพ และ รายได้ ผมจะทำงานนี้เพื่อสืบสานภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้ทำไว้ ไม่อยากให้สูญหายไป” นายอุทาน กล่าวปิดท้าย
สำหรับรางวัล “วิโรฒ ศรีสุโร” มีเกณฑ์การตัดสินพิจารณาจากผลกระทบของผลงานต่อชุมชนหรือระดับประเทศ การสร้างแรงบันดาลใจ การสืบทอดภูมิปัญญาที่กำลังสูญหาย การสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และการทำงานที่ไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทนเป็นที่ตั้ง โดยประเภท “ส่งเสริมการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” จะมอบให้ผู้ที่มีผลงานต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี ในขณะที่ประเภท “เชิดชูการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” จะมอบให้ผู้ที่มีผลงานต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 ปี ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับใบประกาศนียบัตร เงินรางวัล 30,000 บาท และโล่เกียรติยศ
ทั้งนี้งานมอบรางวัล “วิโรฒ ศรีสุโร” นับเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของภูมิภาคอีสาน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการบริการวิชาการเพื่อสังคมและการสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาค พร้อมทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภาคอีสานและประเทศไทย