ในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกเดือดอย่างรุนแรง “ยุคโลกเดือด” หรือ Global Boiling ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างในเขตจตุจักร พังถล่มทั้งหลังมูลค่าความเสียหายโครงการ 2,136 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ของไทยในพื้นที่ 6 จังหวัดทั้งภาคเหนือและภาคใต้ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2567 มีผู้เสียชีวิต 22 คน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,824 ครัวเรือน และปัจจุบันไทยกำลังพบวิกฤตภัยแล้ง ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลต่อภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ไม่ใช่เฉพาะภาคเกษตรแต่หมายรวมถึงทุกคน ทว่าธรรมชาติยังไม่มีทีท่าจะลดละความรุนแรงลง แต่กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น
มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงจัดงานเสวนา “การจัดการภัยพิบัติในสภาวะโลกเดือด” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแสวงหาแนวทางรับมือผลกระทบจากภาวะโลกเดือดที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับเกียรติจาก นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวเปิดงาน โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานโครงการฯ ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศทั้งด้านการเตือนภัย การบริหารจัดการนํ้า และการดูแลระบบนิเวศ ร่วมวงเสวนา มีนักศึกษา บุคลากร ประชาชน พร้อมสื่อมวลชนร่วมงานจำนวนมาก ณ อาคาร 50 ปี วิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติว่า “ในปัจจุบันสถานการณ์โลกของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่ง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและถี่ขึ้นทั่วโลก จังหวัดขอนแก่นให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทยในการเผชิญกับความท้าทายจากสภาวะโลกเดือดได้ดียิ่งขึ้น”
รองศาสตราจารย์ ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกเดือดอย่างรุนแรง คณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้จัดการเสวนาสำคัญในหัวข้อ การจัดการภัยพิบัติในสภาวะโลกเดือดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยพิบัติและผลกระทบจากภาวะโลกเดือด อีกทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมแนวทางการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่เหมาะสมสำหรับชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับภัยพิบัติในระดับท้องถิ่น
การจัดงานเสวนาครั้งนี้นับเป็นครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติได้ให้เกียรติมาร่วมงาน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านระบบเตือนภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พร้อมด้วย นายพิทักษ์ ยุวานนท์ อดีตผู้อำนวยการ โครงการชลประทานนครปฐม นายโบว์แดง ทาแก้ว อดีตผู้อำนวยการ โครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา ดร.เพิ่มศักดิ์ คิดหมาย อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษากรมชลประทาน นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ที่ปรึกษา อนุกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการจัดการภัยพิบัติระดับชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.กัมปนาท ภักดีกุล อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายภัทรพล ณ หนองคาย ที่ปรึกษาด้านงานซ่อม-สร้างแหล่งนํ้าและโครงสร้างขนาดเล็ก อาจารย์สุภัทรดิศ ราชธา ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการจัดการภัยพิบัติระดับชาติโดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยกร ขวัญมา อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการในเสวนา
โดยทุกท่านได้ร่วมกันถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับระบบเตือนภัย การบริหารจัดการน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ Carbon Credit ซึ่งจะนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ บรรยากาศการเสวนาเต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ผู้เข้าร่วมงานต่างแสดงความกระตือรือร้นในการซักถามและร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความห่วงใยต่อประเด็นปัญหาสภาวะโลกเดือดที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อว่า “ประเด็นสำคัญที่ครอบคลุมในการเสวนาประกอบด้วยผลกระทบของภัยพิบัติและสภาวะโลกเดือดต่อภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม การบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ Carbon Credit รวมถึงการจัดการภัยพิบัติระดับชาติด้านน้ำท่วมน้ำแล้ง ตลอดจนการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่เหมาะสมสำหรับชุมชนเพื่อเพิ่มความยั่งยืนในอนาคต”
การเสวนา “การจัดการภัยพิบัติในสภาวะโลกเดือด” ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผลลัพธ์จากการระดมความคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนานโยบายและมาตรการรับมือกับภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป มหาวิทยาลัยขอนแก่นยืนยันที่จะเป็นศูนย์กลางในการสร้างองค์ความรู้และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันปกป้องโลกของเราจากวิกฤตการณ์ที่กำลังคุกคามอนาคตของมนุษยชาติ ทั้งนี้ปัญหาภัยพิบัติในยุคโลกเดือดนี้ จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความรู้จากทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงแค่รัฐบาลหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องเป็นความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคนในสังคม