ไอเดียที่ยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นในห้องเรียน” แม้ช่วงปิดเทอมจะดูเหมือนเวลาพักจากการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่สำหรับนักศึกษาหลายคน มันกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบทเรียนที่มีค่าในโลกจริง เพราะกิจกรรมคือสนามทดลองที่ดีที่สุด ทั้งการฝึกงาน การเข้าร่วมโครงการแข่งขัน หรือแม้แต่การริเริ่มโปรเจกต์เล็ก ๆ ทุกช่วงเวลาคือโอกาสในการเรียนรู้ ลงมือทำจริง และพัฒนาทักษะที่สำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจในการตัดสินใจ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ในสกู๊ปพิเศษนี้ เราจะพาไปรู้จักกับ 3 นักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Khon Kaen Business School : KKBS ) ได้แก่ นางสาวพิมพ์มาดา ปัตติมรรค (เพลง) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการดิจิทัล อดีตนายกสโมสรนักศึกษา KKBS ปีการศึกษา 2567 นางสาวชนม์นิภา นิศยันต์ (ไข่มุก) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรบัญชีบัณฑิต และ นายสกุลชัย ตันตระบัณฑิตย์ (ออดี้) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการตลาด ผู้ที่ได้ใช้ช่วงเวลานอกห้องเรียนอย่างเต็มศักยภาพ พวกเขาไม่ได้รอให้โอกาสเดินเข้ามาเคาะประตู แต่เลือกที่จะเปิดประตู ออกไปค้นหาตัวเอง ผ่านกิจกรรม การฝึกงาน และการแข่งขันที่ท้าทาย พร้อมบทเรียนที่พวกเขาอยากบอกต่อแก่คนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาจุดเริ่มต้นของเส้นทางตัวเอง
นางสาวพิมพ์มาดา ปัตติมรรค (เพลง) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการดิจิทัล อดีตนายกสโมสรนักศึกษา KKBS ปีการศึกษา 2567
Q : อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเข้าร่วมการแข่งขัน/ทำกิจกรรม/ฝึกงานนี้?
A : จุดเริ่มต้นมาจากความชอบในการทำกิจกรรมตั้งแต่ปี 1 ตอนนั้นได้เข้าร่วมเป็นทีมงานในหลายโครงการขององค์การนักศึกษา และรู้สึกว่ากิจกรรมให้อะไรมากกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่การจัดงาน แต่ได้ประสบการณ์ และโอกาสให้เราได้เรียนรู้จากเพื่อนๆ พี่ๆ และคนรอบข้างมากมาย พอขึ้นปี 2 ตัดสินใจสมัครเป็นอนุกรรมการสโมสรนักศึกษา ทำให้ได้ลองทำงานจริง เจอกระบวนการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ได้ฝึกการบริหารจัดการและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จนเมื่อเข้าสู่ปี 3 ก็รู้สึกว่าอยากต่อยอดและพัฒนาสิ่งที่เคยได้รับให้ดียิ่งขึ้น เลยตัดสินใจลงสมัครนายกสโมสร นศ. KKBS เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมของคณะ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับเพื่อนๆ อีกเหตุผลสำคัญคือ มองว่าการทำกิจกรรมเป็นโอกาสที่ดีในการฝึกฝนตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการบริหารงาน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นและสามารถนำไปใช้ได้จริงในอนาคต
Q : ระหว่างทำโปรเจกต์/กิจกรรม/ฝึกงาน เคยมีช่วงที่ไอเดียตันหรือเจออุปสรรคไหม แล้วแก้ปัญหายังไง?
A : มีค่ะ โดยเฉพาะช่วงวางแผนงานใหญ่ๆ เช่นกิจกรรมรับน้อง สีฐานเฟสติวัล บางครั้งก็เจอปัญหาที่ไม่เคยคิดมาก่อน เช่น ข้อจำกัดด้านงบประมาณ หรือการประสานงานกับหลายฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน เวลาที่ไอเดียตัน สโมนักศึกษาจะใช้วิธีคุยกับเพื่อนๆ หรือพี่ๆ ที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และบทเรียนสำคัญคือ เราต้องกล้าลอง กล้าปรับ และยอมรับความคิดเห็นจากคนรอบตัว
Q : มีสถานที่หรือสถานการณ์ไหนที่ทำให้เกิดไอเดียเจ๋งๆ โดยไม่คาดคิดไหม?
A : ไอเดียกิจกรรม “มาแลนลี้” เกิดขึ้นตอนที่สโมสรนักศึกษาเดินเล่นรอบคณะปกติเลยค่ะ ตอนนั้นสังเกตว่าน้องๆ หลายคน โดยเฉพาะปี 1 ยังไม่ค่อยรู้ว่าสถานที่สำคัญในคณะอยู่ตรงไหน หรือฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่อะไร พอคิดไปคิดมา เลยเกิดไอเดียขึ้นว่า ถ้าทำกิจกรรมที่พาน้องเดินสำรวจคณะ พร้อมแนะนำฝ่ายงานสำคัญไปด้วย น่าจะช่วยให้น้องเข้าใจโครงสร้างของคณะได้ง่ายขึ้น จากไอเดียนี้เลยพัฒนาต่อให้สนุกขึ้น โดยเพิ่มกิจกรรมแวะตามจุดสำคัญ แต่ละจุดจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับธุรกิจ เช่น 4P (Product, Price, Place, Promotion) เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้แนวคิดทางธุรกิจไปด้วย ทำให้กิจกรรมไม่ใช่แค่การเดินชมคณะเฉยๆ แต่ยังช่วยให้ได้ความรู้และสนุกไปพร้อมกัน
Q : สิ่งที่ได้จากการแข่งขัน/ทำกิจกรรม/ฝึกงานนี้ ที่คิดว่าจะนำไปใช้ต่อในอนาคตคืออะไร?
A : สิ่งที่ได้มีเยอะมากเลยค่ะ โดยเฉพาะ “การบริหารจัดการ” ตั้งแต่การจัดลำดับความสำคัญของงาน ไปจนถึงการทำงานเป็นทีม ซึ่งคิดว่าทักษะเหล่านี้ใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงานจริง อีกเรื่องที่สำคัญคือ “การสื่อสารและการเจรจา” เพราะการทำกิจกรรมต้องคุยกับหลายฝ่าย ตั้งแต่นักศึกษา อาจารย์ ไปจนถึงหน่วยงานต่างๆ ทำให้เราเรียนรู้ว่าการสื่อสารที่ดีสามารถช่วยให้ทุกอย่างราบรื่นขึ้น สุดท้ายคือ “ความมั่นใจ” การเป็นผู้นำกิจกรรมทำให้เรากล้าตัดสินใจ และกล้ารับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต
Q : สำหรับคนที่อยากลองทำแบบนี้บ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง มีอะไรอยากแนะนำ?
A : ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มจากตรงไหน แนะนำให้ “เริ่มจากสิ่งที่สนใจ” ก่อน ถ้าชอบงานอีเวนท์ ลองสมัครเป็นทีมงานกิจกรรมของคณะ ถ้าสนใจพัฒนาตัวเอง ลองลงแข่งขันหรือฝึกงานสักโครงการ อีกอย่างที่สำคัญคือ “อย่ากลัวที่จะลอง” หลายคนกังวลว่าตัวเองอาจทำไม่ได้ แต่ความจริงคือเราทุกคนเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ การเริ่มต้นสำคัญที่สุด สุดท้าย KKBS เป็นคณะที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมเยอะมาก ถ้าสนใจอะไร ลองเข้าหาอาจารย์ หรือพี่ๆ สโมสรฯ ได้เลย
นางสาวชนม์นิภา นิศยันต์ (ไข่มุก) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
Q : อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเข้าร่วมการแข่งขัน/ทำกิจกรรม/ฝึกงานนี้?
A : เริ่มแรกเกิดจากการที่กำลังตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องการไปฝึกสหกิจใน ปี 4 เทอม 2 จึงได้ทำการ
ปรึกษากับอาจารย์ เพื่อน และทางครอบครัว ว่าควรไปฝึกงานดีมั้ย หรือว่าไม่ไปดี เพราะยังไม่ได้วางแผนในอนาคตชัดเจน และไม่มีความมั่นใจในตัวเองมาก สุดท้ายเลยตัดสินใจที่จะไปฝึกงานที่ บริษัท นคร แอคเค้าน์ติ้ง ซัพพอร์ท จำกัด ช่วงปิดเทอม เพื่อที่จะได้รู้ว่าตัวเองสนใจในการทำงานด้านนี้จริงๆรึเปล่า และถ้าไปฝึกสหกิจจริงตอนปี 4 ตัวเองจะไหวมั้ย รวมถึงอยากได้ประสบการณ์ในการทำงาน และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดเทอม เป็นไอเดียและความคิดที่อยากจะก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง เพราะต่อไปเราเรียนจบก็ต้องออกไปเจอสังคมอีกเยอะ ดังนั้นการไปฝึกงานครั้งนี้เลยเหมือนเป็นบททดสอบของเราก่อน
Q : ระหว่างทำโปรเจกต์/กิจกรรม/ฝึกงาน เคยมีช่วงที่ไอเดียตันหรือเจออุปสรรคไหม แล้วแก้ปัญหายังไง?
A : มีช่วงแรกๆที่เข้าไปฝึกงานค่ะ ตอนนั้นที่ไปทางบริษัทมีพี่ที่เค้ามาฝึกงานอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง พี่ๆเค้ารู้จักกันหมดและมาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน พอเราเข้าไปเลยรู้สึกเกร็งๆและทำตัวไม่ถูก บางครั้งเวลาพูดหรือสื่อสารเราจึงค่อนข้างเกรงใจและไม่กล้าแสดงความเห็นมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ มีความรู้สึกว่าตัวเองสามารถปรับตัวได้มากขึ้น สามารถสื่อสารและโต้ตอบพูดคุยเล่นกับพี่ๆที่บริษัท และพี่ที่ฝึกงานได้ ปัญหาที่พบส่วนมากจะเป็นเรื่องการทำงาน แล้วก็การสื่อสาร เพราะพี่เลี้ยงไม่ได้มานั่งบอกเราทุกอย่างเหมือนเราต้องลองเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน หากมีปัญหาอะไรถึงไปถาม แน่นอนว่าเราก็มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น แต่ก่อนที่จะไปถามพี่ๆ เราได้พยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน ซึ่งพอไม่สามารถทำได้จริงๆก็ได้ขอความช่วยเหลือพี่ๆเค้า
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เจอคือ ด้วยความที่บริษัทที่ไปทำเป็นบริษัทรับทำบัญชีจากบริษัทอื่น ดังนั้นจึงต้องมีการบันทึกบัญชีโดยใช้โปรแกรม Express และจัดทำงบการเงิน ซึ่งในช่วงนี้พี่เลี้ยงได้ให้เรารับผิดชอบทำบัญชีของบริษัทหนึ่ง แต่ผลออกมาเราทำผิดพลาด ถึงพี่เค้าจะไม่ได้ตำหนิอะไร แต่เราก็รู้สึกท้อแล้วก็ผิดหวังกับตัวเอง ช่วงนั้นดิ่งมาก แต่ก็พยายามเชียร์อัพตัวเองให้สู้ต่อ เพื่อครั้งต่อไปจะได้ไม่ผิดพลาด พยายามไม่กดดันตัวเอง สงสัยก็ถามเพื่อความมั่นใจก่อน หลังจากที่ได้มาทบทวนกับตัวเองเลยพบว่าตัวเองกดดันตัวเองมากเกินไป และกังวลว่าตัวเองจะเป็นตัวถ่วงการทำงานของพี่ๆ ดังนั้นหลังจากนั้นจึงพยายามเอนจอยกับการทำงาน และขอความช่วยเหลือจากพี่ๆมากขึ้น
บทเรียนสำคัญที่ได้จากการฝึกงานละอุปสรรคที่เจอ คงเป็นความคิดของเราที่ไม่ควรกดดันตัวเองมากเกินไป ทุกคนสามารถมีข้อผิดพลาดได้ แต่ผิดพลาดก็ต้องลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขให้ถูกต้อง และไม่จำเป็นต้องแบกอะไรไว้คนเดียว ไม่ไหวจริงๆ สามารถขอความช่วยเหลือได้ บางครั้งสิ่งที่เป็นอุปสรรคจริงๆของเราอาจจะเป็นความกลัวและความคิดของเราเองที่ปิดกั้นตัวเองจากคนอื่น
Q : มีสถานที่หรือสถานการณ์ไหนที่ทำให้เกิดไอเดียเจ๋งๆ โดยไม่คาดคิดไหม?
A : คงเป็นตอนที่ตัวเองได้มานั่งทบทวนความคิดตัวเอง ถึงปัญหาที่พบ แล้วก็ช่วงที่ตัวเองว่างหลังจาก
ทำงานเสร็จ เหมือนได้คิดอะไรกับตัวเองหลายๆอย่างถึงสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามา อย่างที่เล่าไปค่ะว่าเราคิดว่าอุปสรรคสำคัญของเราเลยคือ ความคิดของเราเอง เราเลยลองพยายามปล่อยวางสิ่งที่ผิดพลาดที่ผ่านมา แล้วพยายามไม่คิดลบๆ รวมถึงอาจจะฟังดูแปลกๆ แต่เราพยายามให้กำลังใจตัวเอง บอกตัวเองเสมอว่าตัวเองทำได้ ผิดพลาดก็ไม่เป็นไร ระวังให้มากขึ้น ชมตัวเองเยอะๆว่าแบบ เก่งแล้วนะ ไม่เป็นไรนะ รวมถึงเราได้ลองปรึกษากับคุณแม่ หลังจากกลับมาจากที่ทำงาน ด้วยความที่ 1. คุณแม่มีประสบการณ์ในสังคมการทำงานที่มากกว่าเรา 2. คุณแม่เป็นอีกคนที่คอยซัพพอร์ตและรับฟังเราเสมอ เราเลยตัดสินใจเล่าเรื่องให้คุณแม่ฟังและได้ไอเดียกับมาในการพัฒนาตัวเอง และค่อยๆเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
Q : สิ่งที่ได้จากการแข่งขัน/ทำกิจกรรม/ฝึกงานนี้ ที่คิดว่าจะนำไปใช้ต่อในอนาคตคืออะไร?
A : ทักษะที่ได้เรียนรู้จากการฝึกงานในครั้งนี้ คือ เรื่องการสื่อสาร และการแก้ปัญหา รวมถึงการจัด
การความคิดเชิงลบของตัวเองในการทำงาน การฝึกงานนี้ทำให้ได้เรียนรู้ถึงบทบาทของนักบัญชีที่ต้องทำงานทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบเอกสารที่ต้องใช้ความระมัดระวัง การบันทึกข้อมูลลงโปรแกรมที่ต้องใช้ความรอบคอบ การสื่อสารระหว่างทีมที่ต้องช่วยเหลือกัน ไม่ควรกดดันและพยายามทำอะไรด้วยตัวเองถ้าตัวเองยังไม่มั่นใจ สำหรับเรา เราคิดว่าการฝึกงานนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้รู้จักคนอื่น เรียนรู้การปรับตัวกับสังคม และเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง การทำงานในโลกข้างนอกค่อนข้างแตกต่างจากตอนเวลาเรียนหลายอย่าง แต่ก็เป็นบททดสอบที่น่าตื่นเต้นที่คอยสอนและพัฒนาเราเองให้ดีขึ้น ทักษะต่างๆที่ได้เรียนรู้มาช่วยให้เรารู้จักการใช้งานโปรแกรมบัญชีมากขึ้น สามารถนำมาปรับและเรียนรู้ร่วมกับการเรียนวิชาต่างๆในมหาวิทยาลัย ทำให้เราเข้าใจสาขาที่เราเรียนและรู้ถึงเส้นทางของตัวเองมากขึ้น แน่นอนว่าการฝึกงานในครั้งนี้เปลี่ยนความคิดและมุมมองเราหลายๆอย่างในการทำงานสายนี้ ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองค่ะ
Q : สำหรับคนที่อยากลองทำแบบนี้บ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง มีอะไรอยากแนะนำ?
A : สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่กำลังลังเล หรือไม่มั่นใจว่าควรไปฝึกงานช่วงปิดเทอมดีมั้ย พี่ขอแนะนำว่าให้ลองไปฝึกดูค่ะ การไปฝึกงานไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น สำหรับพี่ความคิดเรานี่แหละคือสิ่งที่กำลังปิดกั้นเราอยู่ เราลองเปิดกว้างแล้วก็ก้าวผ่านความคิดของตัวเอง การเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานจริงพี่ว่ามันค่อนข้างช่วยเราได้หลายๆอย่างเลย รวมถึงการตัดสินใจในการทำงาน และการเรียนต่อ การไปฝึกงานนั้นนอกจากที่น้อง ๆจะได้ความรู้และประสบการณ์ที่ดีกลับมาแล้ว น้อง ๆอาจจะได้เพื่อน หรือพี่ๆคนอื่นเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน น้องสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม หรือปรึกษากับอาจารย์ รวมถึงปรึกษาพวกพี่ๆได้เช่นกันนะคะ เราอยากลองทำอะไร เราต้องได้ลองค่ะ ลองแล้วจะได้รู้ว่าเราชอบ หรือเราไม่ชอบ เราโอเคหรือไม่โอเคกับสิ่งนั้น การเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว มีคนมากกมายที่พร้อมสนับสนุนเรา แต่อีกสิ่งที่เราไม่ควรลืมเลยคือตัวของเราเอง ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่เข้ามา แล้วมาพัฒนาตัวเองให้เป็นตัวเราในเวอร์ชันที่ดีที่สุดกันนะคะ เป็นกำลังใจให้น้องๆทุกคนค่ะ
นายสกุลชัย ตันตระบัณฑิตย์ (ออดี้) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการตลาด
Q : อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเข้าร่วมการแข่งขัน/ทำกิจกรรม/ฝึกงานนี้?
A : ถ้าถามจุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปที่การแข่งขันครั้งแรกที่ลงแข่งซึ่งเป็น Global Case ของ Alibaba ตอนนั้นเริ่มตอนปี 1 เทอม 1 จากเพื่อน 4 คนที่เรียนการตลาดมาด้วยกัน ถ้าให้พูดจริง ๆ ต้องใช้คำว่าที่ “พึ่งเข้าสาขาการตลาดมาเจอกัน” โดยที่ยังไม่ได้เรียนวิชาการตลาดเลยสักตัว แต่ด้วยความที่อยากรู้ว่าโลกการตลาดเป็นอย่างไร และอยากลองว่าทำจริงจะเป็นแบบไหน เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งแผน มากไปกว่านั้น มันเหมือนเราได้ลองสนุกไปกับเพื่อน สนุกไปกับไอเดีย สนุกไปกับบทบาทและโจทย์ปัญหาที่แตกต่างกัน มันคือคำที่บอกว่า “เรียนรู้นอกตำรา” เป็นความท้าทายที่รอเราอยู่ ยิ่งเราสืบ ยิ่งค้น ยิ่งแข่ง ยิ่งเจอ challenge ที่แตกต่างและปัญหาที่ต้องแก้แตกต่างกัน “ความไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเจออะไร” นี่แหละคือ ความสนุกที่เป็นจุดเริ่มต้นกันกับเพื่อน ๆ
Q : ระหว่างทำโปรเจกต์/กิจกรรม/ฝึกงาน เคยมีช่วงที่ไอเดียตันหรือเจออุปสรรคไหม แล้วแก้ปัญหายังไง?
A : มีอยู่แล้วเรื่องไอเดียตัน หรือบางทีก็อุปสรรคอื่น ๆ ที่เราคุมไม่ได้ เช่น ไอเดียตายตอนทำงานส่วน creative ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากๆ ซึ่งตอนนั้นถ้าให้พูดก็สาหัส ตอนนี้ก็ยังสาหัสอยู่ 555 แต่ผ่านมาได้เพราะเริ่มจากคนใกล้ตัวก่อนคือเพื่อน เพื่อนทำให้ผ่านได้ มันเป็นการรวมตัวของคนต่างความคิด ต่างความถนัดมารวมกัน มันก็จะเห็นมุมมองที่แตกต่างกันก็ทำให้ไอเดียที่ตันก็ออกมาในมุมมองใหม่ ๆ ไม่ก็ขอปรึกษาจากอาจารย์ พี่ ๆ ทั้งหลาย ตี 3 ตี 4 ก็ลากกันมาแล้ว มันก็จะเห็นมุมมองอื่น ๆ ไปอีก แล้วเราก็ต้องปรับ แต่แน่นอน แก่นงานของเราก็ต้องแข็งแรงด้วย ไม่งั้นอุปสรรคใหม่ก็จะกลายเป็นแผนที่ไม่มีทิศทางสักที แต่พอผ่านมาแล้วมันจะเห็นเลยว่าแต่ละแผน มีมุมมองการคิดที่ต่างกัน จะบอกว่าต้องชนะการแข่งขันอย่างเดียวแล้วจบก็อาจจะไม่ใช่ มันคือปัญหาที่เราจะต้องไปสนุก ได้เรียนรู้กับมันมากกว่า
Q : มีสถานที่หรือสถานการณ์ไหนที่ทำให้เกิดไอเดียเจ๋งๆ โดยไม่คาดคิดไหม?
A : คือมันเกิดขึ้นได้ทุกที่จริง ๆ เอาแบบทั่วไปก็คือสถานที่ที่เราทำงาน เช่น คาเฟต์เอย บ้านเพื่อนเอย คุยกับเพื่อน นั่งกินข้าว discuss กัน คุยกันขำ ๆ ก็เอ๊ะ…มีไอเดียออกมา หรืออย่างการแข่งขันโครงการออมสินยุวพัฒน์ที่ต้องมีการลงพื้นที่ชุมชนก็ได้ไอเดียจากการไปคุยกับคนในชุมชนมา หรืออย่างเคยมีแข่งขัน Hackathon กับเพื่อนก็แบบได้ไอเดียตอนเดินเล่น ตอนนั้นอยู่คณะวิศวะฯ ก็เดินว่อนตึกไปโผล่วงเวียน หรืออย่างตอนคิดงานใต้ตึกคณะฯ คิดไม่ออกก็เดินไปละไปอ๋อตอนอยู่หน้าศาลเจ้าพ่อมอ แต่ถ้าแปลกๆ เลยก็คือ ห้องน้ำ แบบ นั่ง ๆ ไม่ได้คิดอะไร ก็แบบ ห้ะ เอ๊อ อันนี้ดี ขั้นกว่าไปอีกคือเป็นคนที่ก่อนนอนคิดเรื่องอะไรมันจะเอาไปคิดต่อในฝันได้ อย่างเคส SCG ที่เป็นแผนการสร้างแบรนด์ ได้แนวคิดกลยุทธ์จากในฝัน 555 คือตื่นมาแล้วจะมีปากกาหัวเตียง จะตื่นมาจดตรงกระจกที่ห้อง ค่อยมาลบ เชื่อว่าทุกคนก็คงมีสถานที่ที่มีไอเดียบรรเจิดออกมา หรือว่าโมเมนต์ที่แบบเอ๊ะ ไรงี้ เพราะว่าจริง ๆ ไอเดียมันเกิดได้ทุกที่จริง ๆ
Q : สิ่งที่ได้จากการแข่งขัน/ทำกิจกรรม/ฝึกงานนี้ ที่คิดว่าจะนำไปใช้ต่อในอนาคตคืออะไร?
A : ทักษะที่ได้คือเยอะมาก ได้ทุกทักษะจริงๆ ก็สามารถแบ่งได้เป็น Hard skill และ Soft skill
– Hard Skill คือทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ การใช้ทักษะการตลาด ทักษะด้านการทำกราฟฟิก คอนเทนต์ มาหมดเพราะว่าเราต้องทำจริง ทำออกมาให้เขาเห็นภาพ
– Soft skill มันคือการทำงานจริง ดังนั้นการทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา การสื่อสารหรือแม้แต่การจัดการปัญหาเฉพาะหน้าก็ได้มาหมด รวมถึงพวกเรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่พ่วงมากับการแข่งเราก็ได้มาแบบเยอะมาก มันก็เอามาต่อยอดตอนทำงานจริงได้หมดเลย เพราะการแข่งขันทุกครั้งคือการทำงานจริง ๆ ลงมือทำจริงๆ หา insight ลูกค้าจริงๆ ไม่ใช่แค่การเขียนในแผนกระดาษ และมี mentor หรือ Guru ชื่อดังหลากหลาย field คอยให้คำแนะนำด้วย ดังนั้นทักษะพวกนี้มันไม่ได้เขียนออกมาได้ขนาดนั้นหรอกว่ามันมีอะไรที่แต่ละคนจะได้ มันจะได้มาแบบไม่รู้ตัว พอรู้ตัวอีกทีตอนมาทำงานก็รู้สึกแค่ว่าไม่ได้แบบ ช็อกกับการทำงานเพราะเหมือนเราก็มีการพัฒนาทักษะมาเรื่อย ๆ จากการแข่งขันหลากหลายโครงการ
Q : สำหรับคนที่อยากลองทำแบบนี้บ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง มีอะไรอยากแนะนำ?
A : ปัญหานี้คือปัญหาระดับชาติมาก เพราะมีทุกปีแต่พ้อยสำหรับคนที่แข่งขันถ้าให้พูดจริง ๆ คือมีอยู่ 2 ขั้นตอน
– ขั้นตอนที่ 1 ถามว่าตัวเองพร้อมหรือยัง คำว่าพร้อมมันไม่ใช่ความรู้เนาะ เพราะเราอยากแข่งเนื่องจากเราไม่รู้ เราเลยอยากลอง แต่คำว่าพร้อมคือ คิดว่าตัวเองกล้าชาเลนช์ไหม กล้าจะมาลองอะไรที่มันต้องมาแก้ปัญหาจริง ๆ ไหม
– ขั้นตอนที่ 2 คือวิ่งเข้าหาโอกาส เคยมีอาจารย์พูดมาว่า “ถ้าโอกาสมันไม่มาเคาะหน้าห้องเรา เราก็สร้างประตูขึ้นมาเองเลย” โอกาสในคณะมีเยอะมาก น้องจะชอบถามว่ารู้ข่าวแข่งขันมาจากไหน แหล่งใกล้สุดคืออาจารย์ งบไม่ต้องกังวล อันนี้กระซิบ คณะมีงบให้สำหรับเด็กแข่งขัน มันคือแรงสนับสนุนที่พาเราไปหาโอกาสนั้นได้ อาจารย์ก็พร้อมให้คำปรึกษา แปลว่าทั้งหมดเหลือแค่ข้อ 1 เลยคือเราพร้อมไหม หาเพื่อนละจับมือกันแน่น ๆ มองหน้ากันแล้วลุยเลย โอกาสมันมีเสมอแหละ ทำตัวให้พร้อมรอรับโอกาสไว้ได้เลย
บทความ/ภาพ : ภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น