เมื่อสังคมไทยก้าวสู่ “สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ” การดูแลสุขภาพเพื่อให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพกลายเป็นโจทย์สำคัญ คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จึงได้จัด โครงการประชุมวิชาการ “สมาร์ทเอจจิง 2025: กินดี อยู่เป็น เพื่อชีวิตยืนยาว” (Smart Aging 2025: Longevity Food, Ecosystem and Society) ขึ้น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น งานนี้รวมพลนักวิจัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 200 ท่าน (ทั้ง Onsite และ Online) จากทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมล่าสุดด้านอาหารเพื่อสุขภาพ
พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มข. กล่าวเปิดงาน ผศ.ดร.ภก.นรินทร์ จันทร์ศรี คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มข. กล่าวรายงาน และ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวต้อนรับผ่านวิดีทัศน์

ศ.พญ.ผิวพรรณ เน้นย้ำว่า “โลกกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ นี่คือทั้งความท้าทายและโอกาส เป้าหมายยิ่งใหญ่ของเราคือการมุ่งสู่ ‘สังคมแห่งการมีอายุยืนอย่างมีคุณภาพ’ ที่ทุกคนสุขภาพดี สมองแข็งแรง และมีส่วนร่วมในสังคม งานนี้จึงเป็นศูนย์กลางสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านอาหารและสุขภาพ สร้างสังคมอายุยืนที่ยั่งยืน”

ด้าน ผศ.ดร.ภก.นรินทร์ ชี้ว่า “อาหารไม่ใช่แค่พลังงาน แต่เป็นกุญแจเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค และชะลอความเสื่อม โดยเฉพาะ ‘อาหารสุขภาพยุคใหม่’ ที่เน้นสารออกฤทธิ์จากธรรมชาติและตอบโจทย์เฉพาะบุคคล จากความท้าทายนี้ ทีมวิจัยของเราจึงมุ่งพัฒนาส่วนผสมอาหารจากพืชเพื่อสุขภาพกายและสมอง ด้วยหลักโภชนาการแม่นยำ (Precision Nutrition) โดยศึกษาพืชสมุนไพรที่อุดมด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive Compounds) เพื่อพัฒนาสูตรอาหารเฉพาะบุคคล” การประชุมนี้จึงเป็นเวทีรายงานความก้าวหน้าและขับเคลื่อนนวัตกรรม “อาหารแห่งอนาคต (Future Food)” และ “อาหารเพื่ออายุยืนอย่างมีคุณภาพ (Longevity Food)” ผ่านเทคโนโลยี Omics และ AI

ศ.ดร.สมปอง กล่าวเสริมถึงความสำคัญว่า “นี่คือการรวมพลังของนักวิจัย ผู้ประกอบการ และเครือข่ายหลากหลายภาคส่วน Longevity Food เชื่อมโยงกับ Future Food ซึ่งเป็นจุดมุ่งเน้นสำคัญของประเทศ และเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้าง Longevity Society ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกคน”
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ภายในงานอัดแน่นด้วยกิจกรรมวิชาการ ทั้งการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ดร.จิตติ มังคละศิริ จาก บพค. ในหัวข้อ “อาหารแห่งอนาคต”, Associate Professor. Suresh Awale จากมหาวิทยาลัยโทยามะ ญี่ปุ่น กับหัวข้อ “จากแกงไทยสู่การรักษามะเร็ง” และ ศาสตราจารย์ ดร. LEE SHIOU YIH จากมาเลเซีย ในหัวข้อ “โภชนาการเชิงนิเวศ” นอกจากนี้ยังมีการเสวนา การนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจทั้งแบบปากเปล่า 6 โครงการ และแบบโปสเตอร์ ซึ่งครอบคลุมการศึกษาพืชสมุนไพร สารสกัดธรรมชาติ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและชะลอวัย

การประชุมปิดท้ายด้วยการสรุปภาพรวมโดย ศ.ดร.ศักดา ดาดวง หัวหน้าโครงการวิจัย “Longevity Food” ซึ่งเน้นย้ำถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยด้าน Longevity Food อย่างยั่งยืน สนับสนุนยุทธศาสตร์ “อาหารแห่งอนาคต” และเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ของชาติ เพื่อสร้างสังคมอายุยืนที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : เบญจมาภรณ์ มามุข / อรรถพล ฮามพงษ์