มข. รวม 44 โครงการธรรมาภิบาลโดดเด่น มอบรางวัลแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ประจำปี 2568

          เมื่อวันที่  1 กรกฎาคม 2568  มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะกรรมการด้านการบริหารจัดการที่ดี(Good Governance) ได้จัดกิจกรรมพิธีมอบรางวัลแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) มหาวิทยาลัยขอนแก่นประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามนโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดี เพื่อเป็นการยกย่องและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ให้กับสังคม  โดยได้รับเกียรติจาก นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิประธานคณะกรรมการด้านธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวเปิดงาน    รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวชื่นชมยินดีกับผู้ได้รับรางวัล  นางณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและสื่อสารองค์กร เลขานุการคณะกรรมการด้านธรรมาภิบาล  กล่าวรายงานโครงการฯ  นายอำนาจ พรหมสูตร และ รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร  คณะกรรมการสะท้อนผลการตัดสิน และข้อเสนอแนะในการประเมินรางวัล โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย สื่อมวลชน ร่วมงานกว่า 100 คน ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี

         ทั้งนี้รางวัลดังกล่าวได้พิจารณาตัดสินผลรางวัลทุกกลุ่มสาขาวิชาโครงการที่เสนอเข้ารับรางวัลโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2568 ทั้งหมดจำนวน 44 โครงการ 

        นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิประธานคณะกรรมการด้านธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น    กล่าวว่า  สภามหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการส่งเสริม สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหลักธรรมาภิบาลตามแนวทางของการบริหารบ้านเมืองที่ดี ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการด้านธรรมาภิบาลขึ้น โดยคณะกรรมการชุดนี้ ก็มีความมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น “มหาวิทยาลัยที่เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้”  หรือ “การเป็น KKU OPEN SOCIETY” คือ มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักศึกษา และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการจัดกิจกรรมและจัดหลักสูตรเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมทางสังคม   และการมีส่วนร่วมของประชาชน

         อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวเสริมว่า  “การมอบรางวัลดังกล่าว ถือว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้ส่วนงาน/หน่วยงาน มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำหน้าที่ให้ดีขึ้น โดยการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงสามารถนำมาเป็นต้นแบบ และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการบริหารของส่วนงาน หน่วยงาน และมหาวิทยาลัยให้ดียิ่งขึ้น ”   


           รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวชื่นชมยินดีกับผู้ได้รับรางวัล  “โครงการนี้กระตุ้นให้บุคลากรได้ทำงานที่ดีเลิศและมีประสิทธิภาพแก่สังคม ขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านที่อุทิศเวลาคัดกรอง สัมภาษณ์ และคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมในการได้รับรางวัล ผลงานเป็นที่ยอมรับและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจกับผู้ปฏิบัติงาน ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลทุกท่านทั้งในแง่ตัวบุคคลและตัวองค์กร  ขอให้ท่านภาคภูมิใจกับรับรางวัลนี้ ที่ถือเป็นกำลังใจสำคัญในการปฎิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น พัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่นและชุมชนได้ดียิ่งขึ้น ขอแสดงความยินดีด้วยอย่างยิ่ง”   

       นางณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและสื่อสารองค์กร  เลขานุการคณะกรรมการด้านธรรมาภิบาล  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้โครงการตามนโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดี และหลักธรรมาภิบาล 10 หลัก  ตามแนวทางของการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ติดตามโครงการก่อสร้างและครุภัณฑ์ที่มีมูลค่า เกิน 50 ล้านบาท ให้ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งพิธีการมอบรางวัลโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ในวันนี้  โดยมีการดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลที่สนับสนุนพันธกิจของส่วนงาน/หน่วยงาน   และยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดประเภทรางวัลตามกลุ่มสาขาวิชา 3 กลุ่ม คือ 1)กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 2) กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ 3) กลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  การมอบรางวัลโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แบ่งออกเป็น โครงการที่ได้รับรางวัล จำนวน 18 โครงการ และการมอบใบประกาศนียบัตรสำหรับโครงการที่ส่งเข้าร่วม จำนวน 26 โครงการ รวมทั้งสิ้น 44 โครงการ

             รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร การสะท้อนผลการตัดสิน พร้อมข้อเสนอแนะในการประเมินรางวัลโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2568 ว่า   คณะกรรมการได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินรางวัล จำนวน 5 ข้อ ๆ ละ 10 คะแนน คะแนนรวม   ทั้งสิ้น 50 คะแนน ประกอบด้วย  มีการกำหนดผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน สอดคล้องกับพันธกิจของส่วนงาน หน่วยงาน และยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย   มีคู่มือแสดงรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินการที่ชัดเจนครบถ้วนตามองค์ประกอบที่กำหนด   มีการดำเนินการครบถ้วนตามหลักธรรมาภิบาลที่กำหนด และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยประเภท Good Practice ต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี และประเภท Best Practice ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป  มีการขยายผลโครงการในส่วนงาน/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเภท Good Practiceและในประเภท Best Practice มีการขยายผลไปยังชุมชน สังคมในระดับประเทศ  และสุดท้ายคือมีความโดดเด่นของแนวปฏิบัติจากโครงการที่แตกต่างอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน และขอแสดงความยินดีและแสดงความภาคภูมิใจกับทุกโครงการ

         ด้าน รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร   คณบดีคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ผู้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทรางวัลแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) ประจำปี 2568 จาก โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ปีการศึกษา 2567 (โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นมหาวิทยาลัยขอนแก่น) เผยว่า โครงการครูรักษ์ถิ่น เป็นโครงการที่ค้นหาและสร้างโอกาสให้กับเด็กในชุมชนพื้นที่ที่ห่างไกล ที่ขาดแคลน ให้ได้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยคณาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ลงพื้นที่ศึกษาทั้งข้อมูลประชากร ข้อมูล สถานะเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งต้องทําความเข้าใจบริบทชุมชนและผู้นําหมู่บ้านผู้อํานวยการโรงเรียน เพื่อคัดเลือก เด็กนักเรียนโดยมีธรรมาภิบาล  ร่วมกับคนในชุมชนว่า ท่านเห็นว่านักเรียนคนใดมีจริยธรรมอันดี  มีผลการเรียนที่ดี  มีฐานะยากจน  เมื่อชุมชนให้โอกาสนักเรียนแล้ว นักเรียนจะทำหน้าที่ตนเอง ขวนขวายหาความรู้ เพื่อจะตอบแทนคืนแก่ตำบลชุมชนนั้น เงื่อนไขสําคัญคือเมื่อนักเรียนจบการศึกษาระดับชั้นอุดมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว จะต้องกลับไปเป็นครูสอนเด็กนักเรียนในพื้นที่ตนเองต่อไป

            “ ด้วยความโดดเด่นแห่งจริยธรรมและธรรมาภิบาล ของโครงการฯ  ประสานความตั้งใจจะสร้างเด็กนักเรียน เพื่อไปสร้างอนาคตให้แก่สังคมต่อ ของโครงการนี้ จึงได้รับ รางวัลแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice)รางวัลรองชนะเลิศ ขอขอบพระคุณคณะกรรมการ ที่เห็นความสำคัญของโครงการ  เด็กนักเรียนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อจบไปเขาจะต้องไปช่วยสังคม เพราะว่า ลุง ป้า น้า อา ทั้งตําบลเป็นคนคัดเลือกเขา ว่าเป็นคนดี คนเรียนเก่ง คนยากจน ให้ได้มีโอกาสรับการศึกษาที่ดีในมหาวิทยาลัยขอนแก่น บทบาทของมหาลัยขอนแก่น ทําโครงการนี้ก็เพื่อเจียระไนเพชร ทำหน้าที่ให้ความรู้ให้เขากลับไปช่วยสังคมทดแทนคุณแผ่นดิน ด้วยปณิธานของมหาลัยวิทยาลัยขอนแก่นคือการอุทิศเพื่อสังคม”  คณบดีคณะศึกษาศาสตร์   กล่าวทิ้งท้าย

Scroll to Top