มข.ผนึกกำลัง สวรส.และภาคี เปิดมหกรรมคัดกรอง “พยาธิใบไม้ตับ – มะเร็งท่อน้ำดี” ฟรี! พร้อมยกระดับ Health Literacy สู่การสร้างสุขภาพดีในชุมชนอย่างยั่งยืน

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2568 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์มะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายสาธารณสุขจัดพิธีเปิดมหกรรมการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี “ประเทศไทยปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับ ไม่ตายจากมะเร็งท่อน้ำดี” โดยได้รับเกียรติจากนายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในพิธี ท่ามกลางผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และประชาชนที่เข้าร่วมงานนับพันคน ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในการนี้ ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวต้อนรับและเน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสู่สังคมสุขภาพดีอย่างยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญกับการเสริมสร้าง Health Literacy (ความรอบรู้ด้านสุขภาพ) ควบคู่กับการพัฒนางานวิจัย เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือปลอดภัยจากโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมคาดหวังว่าการลดอัตราการเกิดโรคจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขได้ในอนาคต

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการจัดงานมหกรรมครั้งนี้คือการลดความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับให้ต่ำกว่า 10% ภายใน 2 ปี และต่ำกว่า 1% ภายใน 10 ปี พร้อมผลักดันให้สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้นได้มากกว่า 50% ภายใน 2 ปี และมากกว่า 80% ภายใน 10 ปี โดยอาศัยการให้ความรู้ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม การปรับพฤติกรรมการบริโภค การขยายการตรวจคัดกรอง และการเข้าถึงชุดตรวจที่รวดเร็วและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับกิจกรรมภายในงาน รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำทีมภาคีเครือข่ายให้บริการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูป (OV ATK) สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 2,000 ราย และการตรวจอัลตราซาวด์สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 600 ราย โดยพิจารณาจากประวัติความเสี่ยง เช่น เคยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ เคยกินยาถ่ายพยาธิ หรือมีพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบ หากพบความเสี่ยงจะมีระบบส่งต่อเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

นอกจากนั้นยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “การร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” รวมถึงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรค อาทิ การบริโภคอาหารปลอดภัย การรณรงค์ปลาปลอดพยาธิ โมเดลอำเภอต้นแบบ การจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และการใช้วัฒนธรรมหมอลำเป็นเครื่องมือสร้างความตระหนักรู้ ตลอดจนบูธจากภาคีเครือข่ายที่ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญครั้งนี้ โดยหนึ่งในบูธที่ได้รับความสนใจ คือ บูธหลักสูตรให้ความรู้ในสถานศึกษา โดยมี รศ.ลัดดา ศิลาน้อย และ รศ.ดร.อังคณา ตุงคะสมิต รวมถึงทีมคณาจารย์และนักวิจัยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบหลักสูตรและแบบเรียนเกี่ยวกับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีสำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นปฐมวัยไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำไปประยุกต์ใช้จริงในโรงเรียนหลายแห่งในภาคอีสาน รวมถึงถูกนำไปแปลเป็นภาษาลาวเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่คุณครูในพื้นที่ สปป.ลาวอีกด้วย

“พวกเราทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีทั้งในด้านการประเมินพื้นที่เสี่ยงที่ควรนำหลักสูตรไปใช้ในห้องเรียนจริง โดยนำร่องแล้วในหลายจังหวัดทั้งขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เพื่อให้เรื่องเหล่านี้อยู่ใกล้ตัวเด็ก ๆ มากขึ้น และพวกเขาจะเป็นคนนำข้อมูลไปสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและการตระหนักถึงภัยของโรคในครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบางพื้นที่ที่มีการใช้หลักสูตรนี้ควบคู่กับการลงตรวจคัดกรองก็พบว่ามียอดผู้ป่วยพยาธิใบไม้ตับลดลงด้วย”

ด้าน ดรุณี บุญนาโพธิ์ อายุ 55 ปี หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม เปิดเผยว่า ตัดสินใจมาตรวจหลังได้รับข่าวจากโรงพยาบาลในพื้นที่ และรู้สึกดีใจที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดพื้นที่ให้ได้รับการตรวจคัดกรองฟรีครบทั้งปัสสาวะและอัลตราซาวด์ แม้ไม่พบพยาธิใบไม้ตับหรือมะเร็งท่อน้ำดี แต่พบว่ามีไขมันพอกตับ ทำให้รู้ทันสุขภาพตนเอง และอยากเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้อีกในอนาคต

 

Scroll to Top