ระหว่างวันที่ 17–28 กรกฎาคม 2568 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำของ ศาสตราจารย์ ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน พร้อมคณะนักวิจัยและทีมพัฒนานวัตกรรม เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน World Expo 2025 Osaka, Kansai, Japan ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ธีม “AI for Health in the New Era: From Thainess to the Digital World” ซึ่งอยู่ในช่วง Theme Week 5: Learning and Playing เน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่น (Edutainment) ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง AI, VR, AR และ Metaverse
นิทรรศการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งนี้ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสุขภาพผ่านนวัตกรรมที่ผสาน “ความเป็นไทย” กับโลกดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด แบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก ดังนี้:
- Health & Performance Check Zone
โดย อ.ดร.วีระพงษ์ สุจริต
ให้บริการตรวจคัดกรองเบื้องต้นและประเมินความเสี่ยงของภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) ด้วยแบบสอบถาม SARC-F Questionnaire และการทดสอบ แรงบีบมือ (Handgrip Strength) พร้อมคำแนะนำการออกกำลังกายเฉพาะบุคคล เพื่อส่งเสริมการเสริมสร้างและบริหารกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม”
- Metaverse & English Learning for Thai Film Industry
โดย นายณัฐพงศ์ ตั้งเสถียรภาพ และ นายพงษ์พิสิทธิ์ ดีสาระพันธ์
นำเสนอห้องเรียนเสมือนจริงบน Metaverse Virtual Film Studio ที่ผู้เข้าชมสามารถฝึกภาษาอังกฤษผ่านเนื้อหา 10 บท พร้อม mini game และ quiz ใช้ระบบ Hand Tracking เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุกและสมจริง โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วย บพค. และมีของที่ระลึกเป็น หนังสือเรียนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ ครอบคลุม 4 ภาษา: ไทย อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น โดย รศ.ดร.อรทัย เพียยุระ เจ้าของหนังสือ ภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ (THAI for FOREIGNERS)
- AI CPR & Emergency Response Zone
โดย ผศ.ดร.สายยัญ สายยศ
จัดแสดงหุ่นจำลองฝึกช่วยชีวิตหัวใจหยุดเต้น “CPRobot” ที่ผลิตจากยางพาราไทย พร้อมระบบอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี Signal Processing และ Machine Learning ผู้เข้าชมสามารถฝึกทักษะ CPR ด้วยตัวเองแบบสมจริง พร้อมรับของที่ระลึกเมื่อผ่านการฝึกเบื้องต้น
การจัดแสดงนิทรรศการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ สะท้อนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3), การศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4), นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (SDG 9) และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 17) ผ่านการบูรณาการเทคโนโลยีกับองค์ความรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของสังคมในระดับนานาชาติ. ทั้งเป็นอีกก้าวสำคัญที่นำองค์ความรู้จากห้องวิจัยไทยสู่สายตาโลก เพื่อสร้างสังคมสุขภาพดี เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล